"แมงกะพรุน" ทั่วโลกเพิ่มไม่หยุด หวั่นทะเลเสียสมดุล
27 มิ.ย. 2551 - 21:57
ปักเป้า
นักสมุทรศาสตร์เผย สถิติแมงกะพรุนทั่วโลก กำลังแพร่พันธุ์เต็มมหาสมุทร อย่างไม่มีทีท่า ว่าจะลดจำนวนลงได้ง่ายๆ เหมือนอย่างที่ผ่านมา ขณะที่ปลาทะเล และสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ กลับลดลงอย่างน่าใจหาย เพราะน้ำมือของมนุษย์
ภาพประกอบ: แมงกระพรุนแหวกว่ายอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้กับชายฝั่งเมืองเคแมร์ ประเทศตุรกี ซึ่งถูกบันทึกภาพไว้ได้เมื่อเดือน มิ.ย. 2547 (ภาพจาก AFP PHOTO / TARIK TINAZAY)

"เมื่อสัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น ปลา ลดจำนวนลง สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นมาแทนที โดยเฉพาะแมงกะพรุน" คำพูดของริคาร์โด อากิลาร์ (Ricardo Aguilar) ผู้อำนวยการของโอเชียนา (Oceana) องค์กรสากล ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ แห่งท้องทะเล ซึ่งรายงานจาก สำนักข่าวเอเอฟพี ระบุอีกว่า ในขณะนี้ท้องทะเลทั่วโลก กำลังประสบกับปัญหา แมงกะพรุนแพร่กระจาย เป็นจำนวนมาก และในบางท้องที่ ก็อาจก่อให้เกิดอันตราย กับนักท่องเที่ยวได้

ข้อมูลจากนักสมุทรศาสตร์ ระบุว่า โดยปกติ แมงกะพรุนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในทุกๆ 12 ปี และจะมีปริมาณมากคงที่อย่างนั้น ต่อไปราว 4-6 ปี ก่อนจะค่อยลดลงอีกครั้ง เป็นวัฏจักรเช่นนี้มานาน ร่วม 2 ศตวรรษ ทว่าในปี 2551 นี้นับเป็นปีที่ 8 แล้ว ที่ฝูงแมงกะพรุนในทะเล ต่างพากันเพิ่มจำนวนมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง อย่างขาดการควบคุม จนมีปริมาณมาก และกลายเป็นปัญหา ในหลายๆ ท้องที่ เช่น ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ที่มากกว่าปัญหาคือ มันกลับกลายเป็นสัญญาณเตือนว่า สิ่งแวดล้อมในทะเล กำลังย่ำแย่ลงทุกขณะ ระบบนิเวศน์ กำลังเข้าสู่ภาวะเสียสมดุล

สาเหตุที่ทำให้ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อย่างแมงกระพรุน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เอเอฟพีรายงานว่า เป็นเพราะการลดจำนวนลงของปลา และสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ จากการถูกล่า และการแสวงหาผลประโยชน์ จากทรัพยากรทางทะเล โดยมนุษย์เรานั่นเอง โดยเฉพาะพวกทูนา, ฉลาม และ เต่าอีกหลายชนิด ซึ่งหากสัตว์เหล่านี้ลดน้อยลง นั่นหมายถึง ศัตรูที่จะมาคอยแย่งอาหาร กับแมงกะพรุน ก็ลดลงด้วย ทำให้แมงกะพรุน มีแหล่งอาหารอันโอชะ มากมาย ทั้งแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็ก
       
แอนดรูว์ ไบรเออร์เลย์ (Andrew Brierley) นักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย เซนต์แอนดรูว์ส (University of St Andrews) ในสกอตแลนด์ อธิบายว่า เมื่อแมงกะพรุนเพิ่มมากขึ้น ก็จะไปแย่งอาหารกับปลาอื่นๆ อีก และมันก็ยังเป็นศัตรู ผู้ล่าปลาเหล่านั้นไปด้วย ขณะเดียวกัน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ย ของน้ำทะเล สูงขึ้น ก็ปัจจัยส่งเสริม ให้แมงกะพรุน ขยายพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้นด้วย ก็ยิ่งทำให้แมงกะพรุน ครองอาณาเขตในมหาสมุทร ได้ไม่ยาก


ข่าวจาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000072309
Photos

แมงกระพรุนแหวกว่ายอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้กับชายฝั่งเมืองเคแมร์ ประเทศตุรกี